ประวัติมัสยิดกรือเซะ
มัสยิดกรือเซะตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ห่างจากตัวเมืองปัตตานีปัจจุบันไปทางทิศตะวันออกประมาณ 6 กิโลเมตร
มัสยิดกรือเซะเป็นมัสยิดหลังแรกของปัตตานีและของเอเชียอาคเนย์ ที่ก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันออกกลางตะวันออกกลาง มัสยิดกรือเซะมีชื่อเรียกสมัยนั้นว่า มัสยิดปินตูเกริบัง เป็นมัสยิดประจำเมืองปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณหน้าพระลานใกล้กับประตูพระราชวังด้านทิศตะวันตก
มัสยิดกรือเซะเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2057 ในสมัยพญาอินทิรา (สุลต่านอิสมาอีล ชาล์) เป็นเจ้าเมืองปัตตานี (พ.ศ. 2043-2073) แต่มาแล้วเสร็จสมบรูณ์ในสมัยสุลต่านมูซัฟฟัร ชาร์ (พ.ศ. 2073-2107)
หลังจากนั้นได้มีการบรูณะหลายครั้ง ได้แก่ในสมัย ราชินีฮีเยา(พ.ศ. 2127-2159) ได้ทรงให้ช่างชาวจีน คือ ลิ้มเต้าเคียน ทำการบรูณะให้ใหญ่โต หรูหรากว่าเดิมโดยมีการประดับประดา ภายในอย่างในสวยงาม ดังที่ปรากฏในบันทึกของพ่อค้าชาวตะวันตกที่เข้ามาค้าขายในสมัยนั้น
เมืองปัตตานีระหว่างพ.ศ. 2146-2221 ตกอยู่ในภาวะศึกสงครามหลายครั้ง ในสมัยสุลต่านอาลงยุนุส(พ.ศ.2269-2272) ได้มีการบูรณะซ่อมแซมมัสยิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดในพระราชวังปัตตานี สุลต่านอาลงยุนุสถูกปลงพระชนม์ ทำให้เมืองปัตตานีว่างเว้นการปกครองนานถึง 47 ปี
จนกระทั่งในสมัยสุลต่าน มูฮัมหมัด (พ.ศ.2319-2329) หลังจากอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ.2310 เป็นต้นมา และเมื่อได้รับอิสรภาพกลับคืนมาแล้ว กองทัพสยามได้นำกำลังเข้าปราบปรามเมืองต่างๆ รวมทั้งปัตตานี ซึ่งได้ประกาศเป็นอิสระไม่ขึ้นกับอยุธยา เมืองปัตตานีถูกกองทัพสยามบุกเข้าโจมตีเมื่อ พ.ศ.2329 มีการกวาดต้อนผู้คนไปยังกรุงเทพมหานคร รวมทั้งขนย้ายปืนใหญ่พญาตานีและทรัพย์สินอื่นๆไปด้วย สงครามครั้งนั้นเมืองปัตตานีได้รับความเสียหายเป็นอันมาก
ในสมัยต่วนสุหลง (พ.ศ.2359-2375) เป็นเจ้าเมืองปัตตานี ได้มีความพยายามในการบูรณะมัสยิดให้มีความสมบรูณ์เช่นเดิม แต่เกิดความขัดแย้งในเมืองปัตตานีและเกิดสงครามกับสยาม กับหัวเมืองอื่นๆรวมทั้งปัตตานี ทำให้ต่วนสุหลงต้องอพยพครอบบครัวหนีภัยไปอยู่กลันตัน
เจ้าเมืองคนต่อมาคือ นิยุโซฟ (พ.ศ.2375-2388) ไม่ได้บูรณะเมืองปัตตานี เนื่องจากเห็นว่าสภาพของบ้านเมืองไม่อยู่ในฐานะที่จะเจริญรุ่งเรืองต่อไปเช่นในอดีต จึงได้สร้างเมืองแห่งใหม่ที่หัวตลาด(ในตัวเมือง ปัตตานีปัจจุบัน)
มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2375 เป็นต้นมา จนมีสภาพทรุดโทรม ต้นไม้ขึ้นปกคลุม กลมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจและลงทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2500 ได้มีการซ่อมแซมส่วนผนังและรื้อต้นไม้ออก ต่อมาในวาระเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี เมื่อ พ.ศ.2525 กรมศิลปากรได้บูรณะมัสยิดเพื่อให้คงสภาพเป็นโบราณสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีสืบต่อไป
จนกระทั่งเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อวันที่28 เมษายน พ.ศ.2547 มัสยิดกรือเซะได้รับความเสียหายจากการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กรมศิลปากรทำการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2547แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2548 โดยคงรักษาสภาพเดิมของโบราณสถาน ปรับปรุงตกแต่งภายในในอาคารให้สวยงามและสามารถใช้ปฏิบัติศาสนกิจได้ รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบมัสยิดให้มีความสวยงาม โดยมอบให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และให้มัสยิดกรือเซะเป็นศาสนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองปัตตานีสืบต่อไป
ในระยะเวลาที่ผ่านมา แม้ว่ามัสยิดกรือเซะได้รับการบูรณะจากหน่วยงานของรัฐหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เคยมีการเผยแพร่ประวัติของมัสยิดแห่งนี้ ซึ่งแตกต่างจากการบูรณะโบราณสถานทั่วไปที่ได้รับการศึกษาประวัติความเป็นมาควบคู่กับการบูรณะพัฒนาให้เป็นแหล่งศึกาเรียนรู้ของประชาชน มัสยิดกรือเซะแห่งนี้จึงดูเหมือนไร้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ทั้งๆที่ได้ทำหน้าที่เป็นมัสยิดประจำเมืองปัตตานียาวนาน 318 ปี ปัตตานีในขณะนั้นมีความเจริญสูงสุด จนได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นเมืองหลวงและมหานครของภูมิภาคนี้ มัสยิดกรือเซะในวันนี้ จึงเป็นมรดกอารยธรรมแห่งมหานครปัตตานี ที่ควรได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของประเทศและภูมิภาคเอเชียอาคเนย์สืบต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น